วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

แชร์ลูกโซ่ คืออะไร

สวัสดีครับท่านผู้ศึกษาหาความรู้ ออนไลน์ทุกท่าน จากบทความที่แล้ว ผมนำเสนอเรื่องความหมายของธุรกิจ MLM ในบทนี้ผมอยากจะขอนำเสนอในหัวข้อเรื่อง “แชร์ลูกโซ่” ก่อนสืบเนื่องจากว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดว่าธุรกิจเครือข่าย หรือ MLM คือธุรกิจประเภทเดียวกับ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นธุรกิจคนละประเภทกัน...


“แชร์ลูกโซ่” มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดว่าธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM คือธุรกิจประเภทเดียวกับ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นธุรกิจคนละประเภทกัน...


แชร์ลูกโซ่คืออะไร?

แชร์ลูกโซ่ หมายถึง รูปแบบการดำเนินธุรกรรมที่มุ่งประสงค์เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยมีการสัญญาในการเข้าร่วมธุรกิจที่จะตอบแทนผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สูงกว่าเงินลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการมักจะอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เพื่อปันรายได้แจกจ่ายผู้เข้าร่วมธุรกิจอย่างทั่วถึง แต่ผลของมัน คือ การที่ตอบแทนผลประโยชน์ในช่วงต้น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมธุรกิจต่อเนื่องจนเมื่อถึงจุดที่ผู้ประกอบการหวังผลในการระดมทุนสำเร็จแล้ว ก็จะหาทางปิดตัวไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายผลประโยชน์ต่อ ๆ ไป หรืออาจจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าฐานที่เข้ามาหรือผู้เข้าร่วมธุรกิจที่เข้ามาในช่วงหลังจะไม่สามารถหมุนเวียนเงินตอบแทนได้กับคนที่มาก่อนได้ ก็จะเริ่มปิดตัวลง ตัวอย่างแชร์ลูกโซ่ที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงหอบหนี้สินหนีผู้ร่วมลงทุน เช่น แชร์รถยนต์, แชร์นกแก้ว, แชร์ชม้อย, แชร์ข้าวสาร เป็นต้น

ลักษณะและวิธีการดำเนินงาน (ลูกโซ่)

การหาสมาชิก และการจ่ายผลประโยชน์
ส่วนใหญ่วิธีการดำเนินงานของแชร์ลูกโซ่จะเริ่มจากวงแคบ ๆ จากเพื่อนคนใกล้ชิดแล้วค่อย ๆ ขยายตัวไปรอบนอก จนถึงขั้นควบคุมไม่ได้ เพราะจะเริ่มออกสู่วงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ การหาสมาชิกก็จะใช้วิธีสร้างภาพลวง หว่านล้อมให้เกิดความเชื่อและการจ่ายผลประโยชน์กับสมาชิกระดับต้น ๆ หรือใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ อีกข้อหนึ่ง คือ สมาชิกเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนสนิทของกลุ่มผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว ย่อมมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกันมากมาย ดังนั้น จึงสามารถที่จะสร้างภาพลวงร่วมกันได้ สุดท้ายเมื่อได้ระดมทุนตามประสงค์แล้วก็จะปิดตัวลง ซึ่งสมาชิกระดับใกล้ชิดก็จะไม่เสียประโยชน์ใด ๆ ส่วนแมลงเม่าที่บินมาภายหลังส่วนใหญ่จะเป็นผู้เสียหาย และตามตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ เพราะหายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว ครั้นจะมาหาข้อมูลจากสมาชิกระดับผู้นำก็เปล่าประโยชน์ เพราะได้ปิดปากตัวเองแล้วจากผลประโยชน์ที่คาบเกี่ยวกันกับเจ้าของแชร์ลูกโซ่


แชร์ลูกโซ่ต่างจาก MLM อย่างไร?


หลังจากแชร์ลูกโซ่ระบาดอย่างหนักเมื่อกว่าสิบปีก่อนนี้ และเข้ามาเกาะอยู่กับธุรกิจขายตรงอยู่ในปัจจุบันกลายเป็นภาพซ้อนที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าขายตรงในระบบ MLM
ต่างกับแชร์ลูกโซ่อย่างไร
หากเป็นแชร์ลูกโซ่ตรง ๆ ไม่ปรุงแต่งแปลงกายก็เป็นเรื่องที่ดูแล้วเข้าใจง่าย เพราะมีการล่าหัวคิวหรือลงทุนแล้วรอรับส่วนแบ่งกันตรงไปตรงมาแทบจะไม่มีสินค้าเป็นจริงเป็นจังมากนัก ในขณะที่อีกด้านหนึ่งการแฝงตัวเข้ามาอาศัยระบบ MLM หากินของบางกลุ่มบางบริษัทนั้น แนบเนียนเกินกว่าจะมองกันอย่างธรรมดา ๆ แต่ต้องมองอย่างชนิดที่ต้องเรียกว่า แยกแยะกันเป็นส่วน เลยทีเดียว เพราะบริษัทเหล่านี้ได้พัฒนาไปมากกว่าแชร์ลูกโซ่ธรรมดาด้วยการทำทีว่าเป็น MLM ของแท้แต่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบ ดูผิวเผินเหมือนไม่ใช่การระดมเงิน หรือหลอกล่อดึงผลประโยชน์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการดึงเม็ดเงินโดยผ่านกระบวนการสมาชิก ด้วยการจ่ายผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริงทางธุรกิจ เพราะ ไม่ได้มีเจตนาจะขายสินค้าอย่างเป็นธรรม จึงกลายเป็นกลุ่มที่ทำในรูปของระบบพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่มีหลายส่วนที่จะแยก ออกมาให้เห็นว่าแชร์ลูกโซ่ที่แอบแฝงอยู่ในธุรกิจ MLM
เป็นอย่างไร
***เริ่มที่ค่าสมัครที่ค่อนข้างสูง และถูกบังคับให้ซื้อสินค้าพร้อมกับการสมัคร บางแห่งอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ขณะที่บางแห่งสูงกว่า 10,000 บาท ในขณะที่ระบบ MLM
ที่แท้จริงไม่มีการบังคับซื้อ
***ไม่ได้สนใจขายสินค้า แต่การแนะนำเข้าร่วมธุรกิจจะบอกหรือเน้นอยู่ที่การหาคนเข้ามาสมัคร จะมีส่วนแบ่งรายได้ว่าหามากี่คน จะได้ไปกี่พัน กี่หมื่น หรือกี่แสนบาท ขณะที่ MLM
เป็นการสร้างธุรกิจเพื่อขายสินค้า และสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดการขายอย่างกว้างขวางขึ้น
***การจ่ายผลประโยชน์หรือคอมมิสชั่น มาจากส่วนแบ่งการล่าคนเข้ามาในระบบที่วางกฎบังคับซื้อสินค้า ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการบริโภค แต่แท้ที่จริงแล้วสินค้าเป็นแค่ฉากบังหน้า และเป็นเครื่องมือดึงเงินเข้าระบบ เพราะหากไม่มีการบังคับซื้อก็ไม่สามารถจ่ายค่าหัวคิวเป็นทอด ๆ ได้ ทำให้ระบบเดินต่อไปไม่ได้และล้มไปในที่สุด ขณะที่ MLM มีรายได้จากการขายสินค้าหรือยอดขายสินค้าที่เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งหมดนี้เป็นหลักใหญ่ในการพิจารณาดูว่าบริษัทไหนเข้าข่ายเป็นระบบพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจไม่ใช่สาระสำคัญมากนักในการพิจารณา

สำหรับบทนี้ผมต้องขอจบเนื้อหาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ บทหน้าเราจะเรียนรู้ประวัติของธุรกิจ MLM ของโลกกันครับ สำหรับบทนี้ผมคงต้องขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาเข้ามาอ่านบทความของผม
ขอบคุณครับ